วิธีการปลูกกระดุมทอง MEL-102

ลักษณะดอกสีเหลืองเข้ม ดอกดก ทรงต้นเป็นไม้พุ่ม สามารถแตกพุ่มได้อย่างต่อเนื่องนานเป็นปี เมล็ดเหมาะสำหรับลงกระถาง หรือประดับลงแปลง สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ควรมีการเด็ดยอดเพื่อให้แตกทรงพุ่มแน่น เมื่อต้นมีใบจริงประมาณ 6 ใบ

วัสดุอุปกรณ์

  1. ถาดเพาะ  หรือ ตะกร้าเพาะ
  2. พีทมอส สำหรับดอกไม้ ( วัสดุเพาะ )
  3. เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ ( กระดุมทอง )
  4. ป้ายชื่อพันธุ์ดอกไม้
  5. Forcep คีมครีบ
  6. สารป้องกัน และกำจัดเชื้อรา ( โพรพาโมคาร์บ หรือ เมทาแลกซิล )
  7. ถุงมือป้องกันสารเคมี 
  8. บัวรดน้ำแบบฝอยละเอียด

วิธีการเพาะเมล็ด

  1. ตรียมน้ำสำหรับผสมวัสดุเพาะโดยผสม โพรพาโมร์คาร์บ อัตรา 0.4 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน
  2. ผสมน้ำที่เตรียมไว้กับพีทมอส โดยค่อยๆเติมน้ำทีละน้อย  คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นลองบีบวัสดุเพาะเพื่อทดสอบว่า น้ำเข้ากับวัสดุเพาะได้ดีหรือไม่ หากบีบน้ำแล้วมีน้ำออกมาเล็กน้อยตามร่องมือ และวัสดุเพาะเกาะกันเป็นก้อนดีถือว่าใช้ได้ หากมีน้ำไหลออกมามากเกินไป ให้ผสมวัสดุเพาะเพิ่ม หรือไม่มีน้ำซึมออกมาแสดงว่าน้ำน้อยเกินไป ให้เพิ่มน้ำและบีบทดสอบอีกครั้ง 
  3. นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้ใส่ถาดเพาะให้เต็มหลุม กระแทก ถาดเพาะ 1 ครั้งเพื่อให้วัสดุเพาะลงถึงก้นหลุม เติมวัสดุเพาะให้เต็ม แล้วปาดหน้าดินถาดเพาะให้เรียบ พอดีกับหลุม
  4. นำถาดเพาะเปล่ามาวางบนถาดเพาะที่ใส่วัสดุเพาะแล้ว จากนั้นกดถาดเปล่าเพื่อทำหลุม โดยหลุมที่กดควรมีขนาดลึกพอดีกับเมล็ด ประมาณ 0.5 ซม.
  5. ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ 1 เมล็ดต่อ 1 หลุม นำวัสดุเพาะที่ยังไม่ได้ผสมน้ำมาใส่ตะกร้าเพื่อร่อนกลบเมล็ดโดยกลบให้มิดเมล็ด เนื่องจากเมล็ดไม่ต้องการแสงในการงอก และเป็นการรักษาสภาพความชื้นในการงอกของเมล็ด
  6. พ่นสารเคมี โพรพาโมคาร์บ อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร พ่นให้ทั่วถาด เพื่อป้องโรคเน่าคอดินอีกครั้งนำถาดเข้าไปในบริเวณที่พรางแสง 80%-90% และรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำ อย่าให้ถาดเพาะแห้งจนเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดไม่งอกหรือแฉะจนเกินไป อาจทำให้เป็นโรคเน่าคอดินในระยะงอกของเมล็ด
  7. การรดน้ำควรรดในช่วงเช้า หรือสังเกตุเห็นว่าดินแห้ง หากให้น้ำมากเกินไป จะก่อให้เกิดความชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเชื้อราที่จะตามมา การรดน้ำควรใช้หัวสเปรย์ขนาดเล็ก เพื่อป้องกันในช่วงเพาะกล้าเมล็ดกระจายออก นอกถาด

การดูแลต้นกล้า

  • การดูแลต้นกล้า แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ต้นกล้าเริ่มงอก  หลังจากเพาะเมล็ดไปแล้ว ในระยะนี้ควรรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำและนำไปในที่พรางแสง 50%

ระยะที่ 2 เป็นระยะใบเลี้ยงเริ่มแผ่ โดยใช้เวลาจากระยะแรก 1-2 วัน ควรนำออกแดดจัด เพื่อป้องกันต้นกล้ายืดเข้าหาแสง ในช่วงนี้ 1-2 วันควรรักษาความชื้นไว้อยู่ เนื่องจากต้นกล้ายังเล็ก เมื่อต้นกล้าแข็งแรงควรปล่อย ให้ผิววัสดุแห้งบ้าง เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน และจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรงกว่าการให้น้ำตลอดเวลา ในระยะนี้ยังไม่ควรให้ปุ๋ยเนื่องจากต้นกล้ายังมีอาหารสะสมอยู่ และในตัววัสดุเพาะเองมีการใส่ธาตุอาหารไว้ในระดับหนึ่งแล้ว

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เริ่มมีใบจริง เริ่มให้ปุ๋ยทางน้ำโดยผสมปุ๋ยสูตร 15-0-0 ( แคลเซียมไนเตรท ) หรือปุ๋ย สูตร 20-0-0 อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ย 46-0-0 หรือยูเรีย เพราะจะทำให้ต้นกล้าอ่อนแอ

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีใบจริง 2 คู่ เพิ่มการให้ปุ๋ย สูตร 15-0-0 หรือ 20-20-20 อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร

ดินปลูกสำหรับปลูกลงถุงหรือกระถาง

การเตรียมดินปลูกต้นกล้า ดินปลูกต้องเป็นดินโปร่ง ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำดี ในขณะเดียวกันอุ้มความชื้นได้ดีพอสมควร มีความเป็นกรดเล็กน้อย มี pH ประมาณ 6.5-7 ส่วนผสมของดินปลูก ควรหาง่ายในท้องถิ่น 

สูตรดินผสมสำหรับปลูกลงกระถาง

  1. ดินร่วน 1 ส่วน
  2. แกลบดิบ 2 ส่วน
  3. แกลบดำ 1 ส่วน
  4. ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
  5. กาบมะพร้าวสับเล็ก 2 ส่วน
  6. โดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพความเป็น กรด-ด่างในดิน 0.5 กิโลกรัม
  7. ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 250 กรัม

การย้ายปลูกต้นกล้า

  1. หลังจากย้ายลงถาดเพาะได้ประมาณ 15-20 วัน มีใบจริง 2-3 คู่ใบขึ้นไป หรือให้สังเกตุดูปริมาณรากว่าหุ้มกับวัสดุเพาะดีแล้ว 2. ควรย้ายปลูกในช่วงเย็น ( แดดอ่อนๆ) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้าส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก
  2. ดึงต้นกล้าเบาๆ พร้อมดินหุ้มรากให้มากที่สุด ตุ้มไม่แตก เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
  3. นำต้นกล้าลงในถุงพลาสติก หรือกระถาง โดยการเจาะหลุมดินให้ลึกและกว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา
  4. ปลูกในหลุมที่กว้างพอดีกับดินที่หุ้มรากมา และควรปลูกให้ใบจริงอยู่ใกล้ระดับดินมากที่สุด
  5. ดูแลการให้น้ำ และรดน้ำให้ชุ่ม

ดินปลูกสำหรับต้นกล้าดอกไม้ลงแปลง

ควรเริ่มเตรียมแปลงปลูกพร้อมกับเพาะเมล็ด

  1. ไถพรวนและพลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7-10 วัน นำเศษพืชออกจากแปลง
  2. หลังจากนั้นทำการไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมดและทำให้ดินร่วนซุย เพื่อให้รากเดินได้สะดวกเหมาะสำหรับการปลูก 
  3. ถ้าดินมีปัญหาโดยมีค่าความเป็นกรด ด่าง น้อยกว่า 6. 5 ควรเติมปูนขาวเพื่อปรับสภาพ pH ของดิน อัตรา  100 – 300 กก./ไร่  ในขณะใส่ปูนขาวดินควรมีความชื้นเพื่อให้ปูนทำปฏิกิริยากับดินได้ดียิ่งขึ้น และปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์  ผสมปุ๋ยสูตร  15 – 15 – 15 รองพื้น  ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และเพิ่มแร่ธาตุในดิน

วิธีการดูแลหลังการย้ายปลูก

การให้น้ำ

  • ช่วงหลังการย้ายปลูกควรให้น้ำสม่ำเสมอจนฟื้นตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นควรรักษาความชื้นในดินให้เหมาะสมไม่แห้งจนต้นเหี่ยว และไม่แฉะหรือน้ำขังเป็นเวลานานมากเกินไป หากดินขาด

การให้ปุ๋ย

  • ระยะที่ 1  เสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก  ลำต้นและใบ  หลังจากย้ายกล้าแล้วประมาณ 7 วัน  ให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง  เช่น สูตร  15 – 0 – 0 หรือ 25 – 7 – 7  ในอัตรา 1  ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ  20   ลิตร รดทุกๆ  5 – 7  วัน  ประมาณ  2 – 3  ครั้ง
  • ระยะที่ 2   ช่วงการเจริญเติบโตถึงระยะสังเกตเห็นตุ่มดอก  ให้ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15  อัตรา  75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ  ละลายน้ำ   20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน  จนกระทั่งดอกเริ่มบาน
  • ระยะที่ 3  เมื่อดอกเริ่มบาน  ให้ปุ๋ยสูตร ให้ปุ๋ยสูตร 8 – 24 – 24  หรือ 13 – 13 – 21  อัตรา  75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ  ละลายน้ำ   20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน  ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก

ปุ๋ยเม็ด

  • สามารถให้ปุ๋ยสูตรต่างๆ เหมือนสูตรน้ำ ระยะที่ 1 – 3  อัตรา 10 กรัม/ต้น   ทุกๆ  7 วัน  โดยฝังลงในดินหรือใช้ดินกลบ

การเด็ดยอด

  • ควรทำหลังการย้ายปลูกประมาณ 10-15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่ง ด้านบนจนหักชิดข้อที่จับ ช่วยในการแตกทรงพุ่ม ของลำต้นและความสูงสม่ำเสมอกัน แต่การเด็ดยอดจะทำให้ออกดอกช้าลงประมาณ 1 สัปดาห์ ในช่วงวันสั้นหรือฤดูหนาว แนะนำให้เด็ดยอดเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ออกดอกจนเร็วเกินไป

ข้อควรระวัง :  

  • การให้ปุ๋ยเม็ด ระวังอย่าให้โดนโคนต้นเพราะอาจทำให้เน่าและไหม้ได้ ควรฝังลงดินหรือใช้ดินกลบ

  • การให้ปุ๋ยน้ำ อาจสัมผัสโดนใบและทำให้ใบไหม้ได้ ดังนั้นเมื่อรดปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเพื่อล้างใบตาม

หมายเหตุ :  หากไม่สามารถหาปุ๋ยได้ตามสูตร สามารถใช้ปุ๋ยสูตร  15 – 15 – 15 หรือสูตรเสมอทดแทนได้ทุกระยะ  แต่การเจริญเติมโตอาจไม่ดีเท่าสูตรที่แนะนำ  หรือสำหรับบางท่านที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อยครั้ง สามารถใช้ปุ๋ยละลายช้า สูตร  14 – 14 – 14  แนะนำเป็นตัว เนเจอร์ โค้ท สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นานถึง 3 เดือน แต่จะไม่ดีเท่าการให้ปุ๋ยตามระยะ

Short URL :