วิธีการปลูกดอกพิทูเนีย PET-301

ดอกสวยงามหลากหลายสี ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี เหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง ออกดอกสม่ำเสมอ 

การเพาะเมล็ด

 วัสดุอุปกรณ์การเพาะเมล็ด

  1. ตะกร้าพลาสติกมีความสูงประมาณ 1-1.5 นิ้ว
  2. พีทมอสสำหรับเพาะเมล็ด
  3. เมล็ดพันธุ์ดอกไม้
  4. ถังพ่นน้ำแบบฝอย
  5. สารเคมีกันเชื้อรา Propamocarb hydrochloride

การเพาะเมล็ด

  1. ทำการผสมพีทมอสกับสารเคมีกันเชื้อรา Propamocarb hydrochloride (อัตรา 0.4 ซี.ซี ต่อน้ำ 1 ลิตร) คลุกเคล้าให้เข้ากันสังเกตวัสดุเพาะจับตัวเป็นก้อนและมีน้ำซึมตามร่องนิ้วเล็กน้อย
  2. ใส่วัสดุเพาะลงในตะกร้าหนาประมาณครึ่งนิ้ว  ปาดผิวหน้าวัสดุเพาะให้เรียบ  พ่นน้ำให้ชุ่ม
  3. เทเมล็ดใส่มือ (ระวังอย่าให้มือเปียก) ผสมแป้งทาตัวเล็กน้อยคลุกเคล้าให้แป้งติดเมล็ด
  4. หยิบเมล็ดมาพอประมาณ ทำการหว่านในตะกร้าให้กระจายอย่าให้ติดกันเป็นกระจุกเพราะจะยากต่อการย้ายลงถาดหลุม โดยเราสามารถสังเกตจากแป้งที่เคลือบเมล็ดได้
  5. ย้ายไปไว้ในทีพรางแสง 80 – 90% พ่นน้ำฝอยละเอียดทำมุมเฉียงขึ้นให้น้ำตกลงบนวัสดุเพาะ อย่าให้โดนวัสดุเพาะโดยตรงและอย่าปล่อยให้แห้งจะทำให้เมล็ดไม่งอกได้ ในระยะนี้จะใช้เวลประมาณ 4-5 วันในการงอก
  6. เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยง 1 คู่แล้วซึ่งจะใช้ระยเวลาประมาณ 7-8วัน จึงทำการย้ายต้นกล้าลงถาดเพาะต่อไป

การดูแลต้นกล้า

ระยะที่ 1 เป็นระยที่เริ่มงอกจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ระยะนี้ต้องดให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้วัสดุเพาะแห้งหรือเปียกจนเกินไป (วัสดุเพาะแห้งจะทำให้ต้นกล้าชะงักและตาย วัสดุเพาะเปียกจนเกินไปจะทำให้ต้นกล้าเน่า) ระยะนี้ยังคงต้องพรางแสง 80 – 90% อยู่

ระยะที่ 2 มีใบเลี้ยงแผ่เต็มที่ 1 คู่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจากระยะที่ 1 ระยะนี้ควรพรางแสงเพียง 50% เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้ายืดและเป็นโรคเน่าคอดิน  การให้น้ำสามารถให้เป็นแบบพ่นฝอยหรือให้น้ำแบบใต้ถาด ช่วงเวลาการให้น้ำสังเกตว่าผิววัสดุเพาะเริ่มเป็นสีน้ำตาลอ่อนจึงเริ่มให้น้ำจนชุ่ม  ระวังอย่าให้ต้นกล้าเหี่ยวเพราะจะไม่ฟื้น  ในระยะนี้ยังไม่ต้องการปุ๋ยเนื่องจากในพีทมอสยังมีปุ๋ยอยู่

ระยะที่ 3 ระยะนี้จะมีใบจริง 1 คู่แล้วซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 วันจากระยะที่ 2 ระยะนี้ต้องการแดดจัด ไม่ควรทำการพรางแสง จะทำให้ต้นกล้ายืดและอ่อนแอ   การให้น้ำสามารถใช้หัวบัวรดน้ำแบบละเอียดได้  โดยควรให้น้ำเมื่อผิวหน้าวัสดุแห้งและต้นกล้ายังไม่เหี่ยว แล้วจึงให้น้ำจนชุ่ม วิธีการนี้จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง ไม่เป็นโรคได้ง่าย การให้ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยสูตร 15 -0-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 ppmN หรือ 3 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร  ใน 1 สัปดาห์ในทำการให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วันเป็นน้ำเปล่า  ในระยะนี้ควรพิจารณาปรับค่า pH ของน้ำให้เป็น 4.7-5.0 หรือให้วัสดุเพาะมีค่า pH อยู่ที่ 5.5-5.8 เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

ระยะที่ 4   ระยะนี้จะมีใบจริง 2 คู่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7-8 วันจากระยะที่ 3 การดูแลต้นกล้าระยะนี้จะทำการดูแลเหมือนระยะที่ 3

การย้ายปลูก

อายุต้นกล้า  20-25 วัน หลังจากย้ายลงถาดเพา ไม่ควรย้ายปลูกช้าเพราะจะทำให้ต้นแคระแกร็นและออกดอกไว

วัสดุปลูก  ควรเป็นวัสดุที่มีการอุ้มน้ำและระบายได้ดี  หากมีการใช้ดินต้องระวังโรคที่มาทางดินด้วย

สูตรดินผสมสำหรับปลูกลงกระถาง

  1. ดินร่วน 1 ส่วน
  2. แกลบดิบ 2 ส่วน
  3. แกลบดำ 1 ส่วน
  4. ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
  5. กาบมะพร้าวสับเล็ก 2 ส่วน
  6. โดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพความเป็น กรด-ด่างในดิน 0.5 กิโลกรัม
  7. ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 250 กรัม

**ขนาดกระถางหรือถุงดำ พิทูเนียต้นนิยมใช้ กระถาง 6 นิ้ว หรือถุงดำขนาด 4x8 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้นต่อกระถาง หรือต่อถุง 

**พิทูเนียต้นเลื้อยนิยมใช้กระถางแขวน 8 นิ้ว โดยปลูก 1-2 ต้นต่อกระถาง 

การย้ายปลูกต้นกล้าลงแปลง

  1. หลังจากย้ายลงถาดเพาะได้ประมาณ 20-25 วัน มีใบจริง 2-3 คู่ใบขึ้นไป หรือให้สังเกตุดูปริมาณรากว่าหุ้มกับวัสดุเพาะดีแล้ว 2. ควรย้ายปลูกในช่วงเย็น ( แดดอ่อนๆ) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้าส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก
  2. ดึงต้นกล้าเบาๆ พร้อมดินหุ้มรากให้มากที่สุด ตุ้มไม่แตก เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
  3. นำต้นกล้าลงในถุงพลาสติก หรือกระถาง โดยการเจาะหลุมดินให้ลึกและกว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา
  4. ปลูกในหลุมที่กว้างพอดีกับดินที่หุ้มรากมา และควรปลูกให้ใบจริงอยู่ใกล้ระดับดินมากที่สุด
  5. ดูแลการให้น้ำ และรดน้ำให้ชุ่ม

การจัดการหลังการย้ายปลูก

แสง เป็นปัจจัยทีสำคัญต่อการออกดอกของพิทูเนีย  เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน

  1. ความเข้มแสง (Light Intensity) พิทูเนียเป็นไม้ดอกที่ชอบแดดจัดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จึงไม่ควรปลูกไว้ในร่มหรือที่ที่มีการพรางแสงเพราะจะทำให้ต้นยืดหรือออกดอกน้อยหรือไม่ออกดอกเลย
  2. ความยาววัน (Day Length) เนื่องจากพิทูเนียเป็นพืชวันยาว (Long day plant) หากปลูกในช่วงวันสั้น (Short day) จะทำให้ออกดอกช้าลง  ในเมืองไทย พิทูเนียพันธุ์เลื้อยโดยเฉพาะพันธุ์เก่า (Wave) จะมีผลกระทบมากที่สุดเพราะมักจะนิยมปลูกในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นวันสั้น ทำให้พิทูเนียเลื้อยออกดอกช้ามากหรือแทบไม่ออกดอกเลย ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ให้วันสั้นมีผลกระทบต่อการออกดอกให้น้อยที่สุด

น้ำ การให้น้ำควรให้สภาพดินชุ่มสลับแห้ง อย่าให้ชื้นตลอดเวลา เพราะอาจเป็นสาเหตุของโคนเน่า รากเน่าได้ และทำให้ระบบรากไม่พัฒนา ส้งผลให้ต้นแคระแกรน โดยควรให้น้ำเมื่อวัสดุปลูกแห้งแต่ต้นพืชยังไม่เหี่ยวและจะให้น้ำจนชุ่ม วิธีการนี้จะช่วยให้พิทูเนียแข็งแรง ลดการเป็นโรคลง  ข้อควรระวังคืออย่าให้ต้นเหี่ยวเพราะจะทำให้ใบล่างเหลืองและหลุดร่วง 

ปุ๋ย โดยทั่วไปพิทูเนียต้องการความเข้มข้นของปุ๋ยอยู่ที่ 150 ppmN สูตรปุ๋ยที่ต้องการแบ่งตามระยาการเจริญเติบโตดังนี้

ช่วงการเจริญเติบโตทางใบและลำต้น ช่วงนี้ควรเน้นปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลัก ได้แก่ 15-0-0 หรือ 25-7-7 หากไม่มีสามารถใช้ 15-15-15 ได้  โดยสูตร 15-0-0 หรือ 15-15-15 ใช้อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร  สำหรับ 25-7-7 จะใช้ 6 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร  ใน 1 สัปดาห์จะให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วัน เป็นน้ำเปล่าเพื่อไม่ให้ค่า EC ** สูงเกินไป(ค่า เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 1.0 -1.5 mS/cm)  ในกรณีที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อย  สามารถใช้เป็นความเข้มข้นสูงได้ โดยชั่งปุ๋ยสูตรดังกล่าวมา 1 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 200 ลิตร  แล้วหยอดให้กับพิทูเนีย   วิธีการนี้ต้องระวังอย่าหยอดให้มากจนเกินไปจะทำให้ใบไหม้ ต้นเฉาได้ ปุ๋ยสูตรเข้มข้นจะให้สัปดาห์ละครั้ง

ช่วงตุ่มดอก  ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดตุ่มดอก ทรงพุ่มจะใหญ่และเลยออกมานอกกระถาง ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยที่ช่วยเรื่องของตาดอกและลำต้นโดยจะเน้นปุ๋ยที่ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ใช้ 15-15-15 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตรสลับกับการใช้  8-24-24 อัตรา 19 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ใน 1 สัปดาห์จะให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วัน เป็นน้ำเปล่า ในกรณีที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อย  สามารถใช้เป็นความเข้มข้นสูงได้ โดยชั่งปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 1 กิโลกรัม ผสมกับ 15-15-15 อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

ช่วงออกดอก  ช่วงนี้ควรเปลี่ยนปุ๋ยที่ให้ธาตุโพแทสเซียมสูงเช่น 14-14-21 เพื่อช่วยให้ดอกดก ต้นแข็งแรงต้านทานต่อโรคและสภาวะอากาศที่แปรปรวน ใช้ 14-14-21 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือความเข้มข้นสูงที่ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร สำหรับพิทูเนียเลี้อยต้องการความเข้มข้นปุ๋ยสูงถึง 300 ppmN ควรเพิ่มเป็น 2 เท่าในกรณีให้แบบเจือจาง ส่วนการให้แบบเข้มข้นควรปรับให้ปุ๋ยเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์

**ค่า EC ( Electrical Conductivity )

คือ ค่าการนำไฟฟ้าของเกลือทั้งหมดที่ละลายอยู่ในวัสดุปลูก ซึ่งค่าการนำไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณเกลือของธาตุอาหารที่ละลายอยู่ ถ้าค่า EC มีค่ามากก็แสดงว่าวัสดุปลูกมีความเค็มซึ่งจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาและตายได้ในที่สุด

***หมายเหตุ ถ้าไม่มีเครื่องมือวัด ให้สังเกตุการจากใบ และจากราก

การตัดแต่ง นิยมตัดแต่งพิทูเนียเลื้อยเพื่อทำให้ทรงพุ่มกลม แน่น ในพิทูเนียพันธุ์ Wave จะนิยมตัดแต่ง 2-3 ครั้ง ส่วนพันธุ์ Easy Wave และ Shock Wave สามารถทำการตัดแต่งเพียงครั้งเดียวก็พอ การตัดแต่งจะตัดแต่งเมื่อกิ่งก้านแผ่เลยออกมานอกขอบกระถางประมาณ 1 นิ้ว โดยจะทำการตัดแต่งให้เป็นรูปทรงกลม ทำการตัดแต่งให้ชิดเหนือข้อ เนื่องจากกิ่งที่ออกมาจะแตกตรงซอกใบที่ต่ำกว่าข้อ และควรตัดยอดที่อยู่ตรงกลางด้วย  ก่อนการตัดแต่งควรทำความสะอาดกรรไกรด้วยแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคไวรัส

***สิ่งสำคัญในการตัดแต่ง เรื่องความสะอาดของมือคน และกรรไกรตัดแต่งต้องสะอาด และห้ามสูบบุหรี่ในระหว่างการตัดแต่งพิทูเนีย

ศัตรูพืชและอาการผิดปกติจากการขาดธาตุอาหาร

 (มีเรื่องโรค , แมลง และ ลักษณะอาการผิดปกติเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร)

  • โรค

  • ชื่อโรค: โรคโคนเน่า

เชื้อสาเหตุ: Phytophthora spp. , Sclerotinia spp.

ลักษณะอาการ: ต้นเหี่ยวเฉาบริเวณโคนต้นเกิดอาการเน่ารวมถึงบริเวณรากด้วย

การป้องกัน:  ระวังการให้น้ำอย่าให้วัสดุชื้นตลอดเวลา จัดวางให้มีการถ่ายเทอากาศอย่าให้อับชื้น หากพบเจอต้นที่เป็นโรคให้ทำการถอนทิ้งทันที

สารเคมี: อะลูมินัม หรือ ไธโอฟาเมต เมทธิล ฉีดพ่น

  • ชื่อโรค: โรคราขนแมว

เชื้อสาเหตุ Botrytis spp.

ลักษณะอาการ: เกิดอาการฉ่ำน้ำที่บริเวรกิ่ง ใบหรือเกิดอาการเน่าที่ดอกและจะลามลงสู่บริเวณโคนต้น

การป้องกัน: จัดวางให้มีการถ่ายเทอากาศอย่าให้อับชื้นพ่นสาเคมีสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้อง  หากเจอต้นที่เป็นโรคให้ทำการตัดแต่งบริเวณที่เป็นโรคทิ้งและพ่นสารเคมี

สารเคมี: แมนโคเซบหรือคลอโรธาโลนิล ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้องกัน  หรือสัปดาห์ละ  2 ครั้งในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง

  • ชื่อโรค: โรคไวรัส

เชื้อสาเหตุ:  TMV, CMV

ลักษณะอาการ: ใบหรือดอกมีลักษณะผิดรูป บิดเบี้ยว บางต้นเมื่อเป็นแล้วจะไม่ออกดอก

การป้องกัน: กำจัดแมลงปากดูดที่เป็นพาหนะเช่นเพลี้ยไฟ, ทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ตัดแต่งทุกครั้ง หากพบเจอต้นที่เป็นโรคให้กำจัดทันที

สารเคมี: ป้องกันโดยการพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดแมลงปากดูดเช่นเพลี้ยไฟ ได้แก่ อิมิดาคลอพริด, ไบเฟนทริน, อะบาเม็กติน เป็นต้น

  • ชื่อโรค: โรคราแป้ง

เชื้อสาเหตุ:  Podosphaera xanthii, Oidium longipe

ลักษณะอาการ: (น้ำค้างแรงในตอนเช้า)โดยใบล่างจะเหลืองและมีจุดดำๆกระจายอยู่ หลังจากนั้นใบแห้งเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล

การป้องกัน: จัดวางให้มีการถ่ายเทอากาศอย่าให้อับชื้น  พ่นสาเคมีสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้อง  หากเจอต้นที่เป็นโรคให้ทำการตัดแต่งบริเวณที่เป็นโรคทิ้งและพ่นสารเคมี

สารเคมี: คาร์เบนดาซิม,เบนโนมิล หรือ ซัลเฟอร์

  • แมลง

  • ชนืด: หนอนใยผัก

ลักษณะอาการ: มักจะกัดกินใบด้านล่างหรือใบที่อยู่กลางลำต้น เมื่อแสงแดดตกกระทบจะหนีไปอยู่บริเวณวัสดุปลูก  หนอนจะกัดกินให้เหลือเยื่อใบ หรือใบเป็นรู และมักจะทิ้งมูลไว้

สารเคมี: คลอไพริฟอส หรือ ไซเปอร์เมทริน  สารชีวภาพได้แก่ BT (Bacillus thuringiensis)

  • ชนืด: เพลี้ยไฟ

ลักษณะอาการ: ใบและดอกจะเป็นแผลสีขาว ซึ่งเกิดจากการดูดน้ำเลี้ยง  เพลี้ยไฟยังเป็นพาหนะโรคไวรัสด้วย

สารเคมี: อิมิดาคลอพริด, ฟิโพรนิล, อะบาเม็กติน เป็นต้น

  • ลักษณะอาการผิดปกติเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร

ธาตุอาหารที่ขาด: ธาตุเหล็ก

ลักษณะอาการ: ใบยอดเป็นสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียวอยู่ หากเป็นมากใบจะเหลืองและลามมายังใบอื่น ต้นจะแคระแกร็น

การป้องกัน: ควรมีการปรับค่าความเป็น กรดเป็นด่าง (pH) เนื่องจากธาตุเหล็กจะละลายออกมาได้ดีเมื่อวัสดุปลูกมีสภาวะเป็นกรด ในพิทูเนียวัสดุปลูกควรมี pH อยู่ที่ 5.5-5.8  หากไม่สะดวกในการปรับค่า pH การผสมเฟอรัสซัลเฟตในวัสดุปลูกก็เป็นวิธีช่วยอีกวิธีหนึ่ง 

การแก้ไข: หากเกิดอาการดังกล่าวในต้นกล้าให้ใช้ปุ๋ยจำพวกคีเลทเช่น Brexil 10% อัตรา -3-5 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตรและให้ดูดซึมจากด้านล่างขึ้นไป ให้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะเขียว   ในกรณีที่เกิดในต้นโตให้ใช้ ปุ๋ย Ferrous sulphateผสมน้ำอัตรา2.5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ให้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่าจะเขียว

Short URL :