วิธีการป้องกัน กำจัดแมลงทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วต่างๆ

วิธีการป้องกัน กำจัดแมลงทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วต่างๆ

ด้วงถั่วเหลือง

เกษตรกร ที่ปลูกพืชต้องประสบปัญหาหลากหลาย อาทิ ฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง ฝนตกหนักติดต่อกันจนน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม วัชพืช โรคแมลง นก หนู ในเรือกสวนไร่นา แล้วยังมีแมลง นก หนู ตามมาทำลายพืชผลในยุ้งฉางอีกด้วย ทำให้สูญเสียรายได้โดยไม่รู้ตัว เพราะนึกไม่ถึง จึงไม่ใส่ใจเท่าที่ควร
ปี 2519 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้สำรวจความเสียหายพืชผลในโรงเก็บยุ้งฉาง ใน 61 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ปรากฏว่า แมลง หนู นก ทำความเสียหาย ร้อยละ 5-10 ของผลิตผลที่เก็บ สำหรับประเทศเราปริมาณข้าวเปลือกที่ผลิตได้ ทั้งนาปีและนาปรัง แต่ละปีรวมกันราว 30 ล้านตัน ถ้าเสียหาย ร้อยละ 5 จะสูญเสีย 1.5 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมพืชผลอื่นๆ อีกหลายชนิด เมื่อรวมกันแล้วเป็นมูลค่ามิใช่น้อยอย่างน่าเสียดาย ปกติเกษตรกรส่วนมากมักจะไม่เก็บเมล็ดถั่วต่างๆ ไว้ทำพันธุ์ และรอจำหน่าย เพราะถูกด้วงถั่วทำลายเร็วมาก เวลาจำหน่ายผลิตผลได้ราคาถูก แต่ซื้อเมล็ดพันธุ์กลับมาในราคาแพง มิหนำซ้ำอาจไม่ได้พันธุ์ตรงตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นการเสียเปรียบทุกประตู ทั้งนี้ เนื่องจากไม่ทราบวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่แมลงเข้าทำลายไม่ได้ โดยเสียเงินน้อยและไม่มีพิษตกค้าง ในที่นี้ขอเสนอแมลงที่ทำลายเมล็ดถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จากเอกสารแมลงที่พบในผลิตผลเกษตรและการป้องกันกำจัด กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (02) 579-7813-4 ดังนี้
1. ถั่วเขียวผิวมัน แมลงที่ทำลาย อันดับ 1 คือ ด้วงถั่วเขียว รูปร่างลักษณะตัวเต็มวัย สีน้ำตาล ปีกสั้น ไม่คลุมมิดลำตัว และมีแถบหรือจุดสีน้ำตาลเข้มบนปีกทั้งสองข้าง ปลายปีกมีสีดำ ลำตัวเรียวแคบไปทางส่วนหัว ทำให้หัวเล็กและงุ้มเข้าหาส่วนอก ทำความเสียหายมากในประเทศแถบร้อนและกึ่งร้อน แพร่กระจายตลอดปี ทำลายเมล็ดถั่วทุกชนิด เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วนิ้วนางแดง เป็นต้น ยกเว้นถั่วเหลือง จากเอกสารวิชาการคำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ปี 2539 กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำให้ใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 5 มิลลิลิตร (ซีซี) คลุกกับเมล็ดถั่วต่างๆ ที่มีความชื้นราว 8% หนัก 1 กิโลกรัม ให้ทั่วก่อนนำไปเก็บ อายุการเก็บรักษา 3-4 เดือน ถ้าจะเก็บเกินกว่านี้ จะต้องนำออกมาตากแดดคลุกน้ำมันใหม่ หรือจะใช้ถ่านแกลบ (แกลบดำ) อัตรา 20 กรัม ปูนขาว อัตรา 10 กรัม อย่างใดอย่างหนึ่ง คลุกกับเมล็ดถั่ว 1 กิโลกรัม ให้ทั่ว แล้วปิดภาชนะให้มิดชิด หรือปิดทับหน้า กดให้แน่นด้วยถ่านแกลบ (แกลบดำ) หรือปูนขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง หนาประมาณ 5 เซนติเมตร ป้องกันด้วงถั่วเขียวและด้วงถั่วเหลืองได้ ถ้าเมล็ดถั่วไม่มีไข่ด้วงถั่วติดมาจากไร่นา
จาก วารสารเกษตรพระจอมเกล้า ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (2537) หน้า 25-31 คุณมยุรา สุนย์วีระ ได้ทดลองป้องกันกำจัดด้วงถั่วเขียวและด้วงถั่วเหลืองโดยใช้ความเย็น ปรากฏว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 0 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 วัน สามารถยับยั้งการฟักไข่ของด้วงถั่วทั้งสองชนิดได้ดี ทำให้มีผลในการเก็บถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลืองได้นานถึง 7 เดือน ในขณะที่เมล็ดยังมีความงอกถึง 91.5-93.5% นอกจากนี้ ในวารสารปีเดียวกัน ฉบับที่ 3 หน้า 15-23 คุณประสิทธิ์ ดีวัฒนวงศ์ และคณะ ได้ศึกษาสมุนไพร 10 ชนิด พบว่า เมล็ดละหุ่งกับเมล็ดน้อยหน่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นำมาบดให้ละเอียดในอัตราส่วน 1 กรัม คลุกกับเมล็ดถั่วเขียวผิวมัน 10 กรัม ใส่ตัวเต็มวัยด้วงถั่วเขียว อายุ 2 วัน 10 คู่ เมล็ดพืชทั้งสองชนิดสามารถลดการวางไข่ของด้วงถั่วเขียวได้ดี แต่เมล็ดละหุ่ง ให้ผลยับยั้งดีกว่าเมล็ดน้อยหน่า ส่วนสมุนไพร 8 ชนิด ไม่มีการวางไข่ดังกล่าว
2. ถั่วเหลือง รูปร่างและลักษณะด้วงถั่วเหลืองคล้ายด้วงถั่วเขียว จนบางครั้งคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่ขนาดเล็กกว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ระหว่างหัวและลำตัวมีสีขาว การเจริญเติบโตตลอดจนวงจรชีวิต และการแพร่ระบาด ทำลายเมล็ดถั่วเหลืองและเมล็ดถั่วทุกชนิดเหมือนด้วงถั่วเขียว ดังนั้น การป้องกันกำจัดด้วงถั่วเหลืองนี้ จึงเหมือนกับด้วงถั่วเขียวข้างต้น
3. ถั่วลิสง เนื่องจากมีเปลือกฝักเป็นเกราะป้องกันแมลงที่เข้าทำลายคือ มอดฟันเลื่อยใหญ่ มอดแป้ง ผีเสื้อข้าวโพด ส่วนมากเกษตรกรจะขายฝักสดให้กับพ่อค้านำไปต้มขายไม่มีปัญหา ถ้าจะเก็บไว้ทำพันธุ์ ก็ต้องเก็บในรูปทั้งเปลือกที่แห้งสนิท โดยไม่ต้องใช้สารเคมีสารธรรมชาติแต่อย่างใด ดังนั้น เวลาจะใช้ปลูก ควรใช้มือแกะเมล็ดในออก ไม่ต้องซื้อมาด้วยราคาแพงโดยใช่เหตุ
จาก ข้อมูลกลุ่มวิเคราะห์และวางระบบข้อมูล ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร มีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวผิวมัน ถั่วเหลือง และถั่วลิสงทั้งประเทศ ปี 2557/2558 558,074 ไร่ 203,580 ไร่ และ 58,359 ไร่ ตามลำดับ สำหรับการใช้เมล็ดพันธุ์ที่แนะนำ เฉลี่ย 4-5 กิโลกรัม 12-15 กิโลกรัม และ 15-16 กิโลกรัม ตามลำดับ คิดเป็นน้ำหนัก 2,232-2,790 ตัน 2,443-3,054 ตัน และ 875-934 ตัน ตามลำดับ คิดเป็นเงินที่เกษตรกรต้องซื้อรวม ประมาณ 151 ล้านบาท ถ้าหากรู้จักวิธีเก็บรักษาดังกล่าว เป็นการเพิ่มรายได้แก่ตนเอง และลดต้นทุนการผลิตได้เมล็ดพันธุ์ดีอีกด้วย
เนื่อง จากสินค้าเกษตรชนิดใดก็ตาม เมื่อถึงฤดูกาลที่ออกมาพร้อมกันมากๆ ราคาย่อมตกต่ำลงมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง หรืออาจขาดทุนได้ ถ้าเก็บรอเวลาก็จะได้ราคาสูงขึ้น หากคุ้มกับค่าใช้จ่ายการเก็บรักษา ยังผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น การที่เกษตรกรแต่ละรายทำกันเองเป็นภาระมาก ควรรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรริเริ่มดำเนินงานด้านนี้ ด้วยการรวบรวมผลิตผลถั่วเขียว ถั่วเหลือง จากสมาชิกและใกล้เคียง มาใช้สารรมฟอสฟีนป้องกันกำจัดแมลงศัตรูดังกล่าว เพื่อขายให้ผู้ส่งออก หรือเป็นผู้ส่งออกเอง
หาก สนใจ ติดต่อรับบริการสอนและสาธิตฟรี จากผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ตามที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ข้างต้น


Short URL :